เผาเก่า VS เผาใหม่
“พลอยสด” หมายถึง พลอยที่ไม่ได้ผ่านการเผา
“พลอยเผา” คือ พลอยที่ผ่านมาปรับปรุงคุณภาพพลอยโดยการเผา การเผาพลอยสามารถทำได้ทั้งในพลอยเนื้ออ่อนและพลอยเนื้อแข็งในปัจจุบันเรามักจะได้ยินคำว่า “เผาเก่า” “เผาใหม่” เพราะพลอยในท้องตลาดส่วนมากมักจะผ่านการปรับปรุงคุณภาพโดยการเผามาแล้วแทบทั้งสิ้น เหตุผลน่าจะเป็นเพราะว่าปริมาณพลอยที่ขุดขึ้นมาได้ปัจจุบันนั้น พลอยเม็ดที่มีสีสันสวยงามพอที่จะนำมาเจียระไนได้เลยมีปริมาณที่น้อยมากจนแทบจะไม่มีอีกแล้ว
ทำไมต้องเผา?
คำตอบง่ายๆ ก็คือ เผาให้สวยขึ้นค่ะ เช่น พลอยมีสีเข้มเกินไป ก็เผาลดสีลง หรือภาษาคนเผาพลอยจะเรียกว่าเผาถอยสี หากพลอยสีอ่อนไปก็สามารถเผาให้สีเข้มขึ้น การเผาให้พลอยใสขึ้นก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งไม่ใช่พลอยทุกเม็ดที่เผาแล้วสวยขึ้นนะคะ พลอยแต่ละชนิดและพลอยแต่ละแหล่งจะใช้กรรมวิธีแตกต่างกัน ผู้เผาพลอยจึงต้องมีความชำนาญในการดูก้อนพลอยว่าควรเผาแบบใดจึงจะเหมาะสมค่ะ
“เผาเก่า” หมายถึง การเผาแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นการเผาแบบให้ความร้อน โดยไม่ใส่สารใดๆ และรวมถึงการเผาทับทิมที่มีการใส่สารบอแรกซ์และซิลิกา เพื่อไปประสานรอยร้าวของพลอย หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “น้ำยา” นั่นเองค่ะ การเผาแบบนี้เป็นการเผาที่ทำมานานแล้วและบางครั้งก็เรียกกันว่าอุดแก้ว (Glass filling)
“เผาใหม่” ในตลาดจะหมายถึงพลอยสองประเภทค่ะ คือ
ประเภทที่ 1 คือ การเผาโดยใส่สาร “เบอริเลียม” (Be) มักทำในพลอยแซปไฟร์ เช่น บุศราคัม (Yellow Sapphire) เขียวส่อง (Green Sapphire) แซปไฟร์สีส้มอมชมพูหรือพัดพารัดชา (Padparadscha) พลอยทับทิมและแซปไฟร์จากเมืองซองเจีย บางคนเข้าใจผิดว่าการใส่เบอริลเลียมเป็นการใส่สี สารเบอริเลียมเป็นสารไม่มีสีค่ะ แต่เบอริเลียมจะไปทำปฏิกริยากับธาตุที่มีอยู่ในพลอย ทำให้พลอยสีสวยขึ้นและสีก็คงทนถาวร
ประเภทที่ 2 คือ การเผาแบบใส่ “แก้วตะกั่ว” (Lead Glass) ลงไปในกระบวนการเผาพลอย พลอยที่นำมาเผาวิธีนี้มักจะมีรอยแตกร้าวมาก การใส่แก้วตะกั่วลงไปก็เพื่อประสานรอยแตกให้เรียบเนียนขึ้น ซึ่งต่างจากการเผาเก่าที่ไม่ได้ใส่มีการผสมตะกั่วลงไป บางครั้งอาจมีการใส่โลหะหนักอื่นๆ เช่น บิทมัส ลงไปด้วย การเผาวิธีนี้พบมากในพลอยทับทิมอัฟริกาค่ะ
การเผาพลอยตระกูลคอรันดัมยังมีวิธีหนึ่งที่เรียกว่าการเผาแบบ “ซ่านสี” ค่ะ หรือภาษาพลอยเรียกว่า “พลอยดิฟฟิ้ว” ซึ่งนำมาจากภาษาอังกฤษ คือ Diffusion treatment นั่นเอง การเผาแบบนี้เป็นการเผาให้สีแพร่ลงไปในเนื้อพลอยในระดับตื้นๆ สีจึงอยู่แค่ส่วนที่ผิวเท่านั้นค่ะ
โดยทั่วไปราคาพลอยสดจะมีราคาสูงกว่าพลอยเผา แต่ไม่ได้หมายความว่าพลอยเผาจะคุณภาพไม่ดีนะคะ การเผาพลอยทับทิมและแซปไฟร์นี้ได้รับการยอมรับกันทั่วโลก เพียงแต่ว่าการซื้อขายพลอยกันก็ควรที่จะเปิดเผยว่าเป็นพลอยสดหรือเผาแบบใดมาค่ะ